Getting from (PM)2.5 to Zero: The Cost and the Impact of Air Pollution (Thai)

Roadshow Recap from Session Stop #3, September 9

2 min readSep 16, 2020

--

*Read in Thai below or English Language here

ปัญหามลพิษทางอากาศ มักจะถูกมองว่าเป็นปัญหาของเมืองใหญ่ และจะได้รับความสนใจจากภาครัฐเฉพาะช่วงที่เมืองกรุงเทพต้องเผชิญสภาวะฝุ่นพิษปกคลุมในช่วงปลายปีเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะเมืองหลวงของประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกภูมิภาค และสร้างความเสียหายทั้งต่อสภาพเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนทั่วทุกมุมของประเทศไทย

นี่คือประเด็นหลักที่ Circular Design Lab และ เครือข่ายอากาศสะอาด ได้นำมาพูดคุยกันในการเสวนาออนไลน์ครั้งที่ 3 ของกิจกรรม Digital Roadshow: From PM2.5 to Zero ในวันพุธที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจากผู้แทนทั้งในภาคการศึกษาและภาคประชาชน มานำเสนอความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันถึงต้นทุนและผลกระทบของมลพิษทางอากาศ ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง รวมถึงแนวทางที่แต่ละภูมิภาคกำลังผลักดันเพื่อการแก้ปัญหากันอยู่

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมของเครือข่ายอากาศได้เปิดการเสวนาด้วยการแสดงให้เห็นตัวเลข “มูลค่าความเสียหายเชิงเศรษฐศาสตร์ของมลพิษทางอากาศ” ซึ่งได้มีการศึกษาจากมุมมองของ “ต้นทุนทางสังคม” ต่อครัวเรือนในประเทศไทยและแสดงผลไว้อย่างละเอียดใน สมุดปกฟ้าอากาศสะอาด ของทางเครือข่ายฯ โดยประมาณการณ์ได้ว่า ในแต่ละปี มูลค่าความเสียหายจากฝุ่นพีเอ็ม 10 ที่กระทบต่อครัวเรือนนั้น อาจมีค่าสูงถึงกว่า 2 ล้านล้านบาท หรือกว่า 12% ของ GDP ประเทศไทย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้นับรวมถึงผลกระทบจากส่วนอื่นๆ เช่น การสูญเสียนักท่องเที่ยวในฤดูมลพิษในเชียงใหม่ หรือผลกระทบต่อกิจกรรมงานวิ่งมาราธอน ที่ส่งผลทั้งในรูปของตัวเงินและการกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วย

อีกมิติหนึ่งของผลกระทบจากมลพิษคือการเปิดเผยให้เห็นถึงปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างของสังคมไทย ที่มีอัตราความเหลื่อมล้ำระหว่างความมีกับความจนสูงมาก ดังจะเห็นได้จากความแตกต่างในการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันมลพิษให้กับนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเมื่อเทียบกับโรงเรียนรัฐบาล หรือระดับการขาดแคลนความตระหนักรู้และความสามารถในการจัดหาเครื่องมือป้องกันตนเอง ไม่ว่าจะในพื้นที่ชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานคร หรือชุมชนใกล้แหล่งมลพิษจากโรงงานในสมุทรสาคร

ปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างของสังคมไทย อาจจะเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากปัญหาของมาตรการห้ามเผาจากภาครัฐ ที่สั่งไม่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือเผาไร่เผาป่าโดยไม่มีการจัดหาทางเลือกอื่นให้ทดแทน ซึ่งกลับกลายเป็นมาตรการที่สร้างความขัดแย้งและส่งผลให้เกิดการลักลอบเผาป่าเพื่อการแสดงเชิงสัญลักษณ์ถึงความไม่พอใจจากชุมชนในพื้นที่

การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศนี้ เราอาจจะต้องกลับมาคิดหรือเปล่าว่าเรากำลังสร้างผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการต่างๆอยู่ ดังนั้นเราควรจะต้องเข้าใจบริบทของตัวพื้นที่ให้ได้มากขึ้นในการแก้ปัญหา

- รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช

ต่อเนื่องจากประเด็นของภาคเหนือ คุณศุภกร ศิริสุนทร ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มอากาศสะอาดเพื่อคนขอนแก่น ก็ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากมุมมองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดขอนแก่น ที่เริ่มจะเห็นผลกระทบที่รุนแรงจากปัญหามลพิษทางอากาศในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดความตื่นตัวจากชาวขอนแก่นมากขึ้น จึงเกิดการรวมกลุ่มกันของประชาชนในพื้นที่เพื่อมาพูดคุยและหาทางแก้ปัญหาร่วมกันภายใต้ชื่อ กลุ่มอากาศสะอาดเพื่อคนขอนแก่น โดยมีสมาชิกทั้งจากภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และ NGO ในพื้นที่มาร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง

ความสำเร็จหนึ่งของกลุ่มอากาศสะอาดเพื่อคนขอนแก่นคือการผลักดันให้ปัญหามลพิษทางอากาศได้รับการบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของสมัชชาสุขภาพภาคอีสาน และการผลักดันให้นโยบายการพัฒนาเมืองขอนแก่นมีความสมดุลมากขึ้นระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

การพยายามพัฒนาเป็น Smart City ของเมืองขอนแก่น ก่อนหน้านี้มีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมค่อนข้างน้อย หลักๆจะเป็นการพูดถึงเรื่องของเศรษฐกิจและการคมนาคมมากกว่า เราจึงรู้สึกว่าเราต้องผลักดันเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้ถูกพูดถึงมากขึ้นในเวที Smart City นี้

- คุณศุภกร ศิริสุนทร

อาจารย์สุภา มนูญศักดิ์ อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มอากาศสะอาดเพื่อคนขอนแก่น ได้เสริมจากคุณศุภกรในประเด็นการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเดิมได้เน้นการส่งเสริมการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำและการจัดการขยะที่อยู่คู่กับเมืองขอนแก่นมายาวนาน จนกระทั่งช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่ได้พบเห็นปัญหาคนป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจในพื้นที่มากขึ้น ทำให้ปัญหามลพิษมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นและเริ่มมีการบรรจุเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น ยุทธศาสตร์ Low-Carbon City เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเทศบาลนครขอนแก่นด้วย

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สุภาเน้นย้ำว่า การขับเคลื่อนในเชิงนโยบายเพื่ออากาศสะอาดอย่างเป็นรูปธรรม จะต้องสร้างความตระหนักภาคประชาชนให้มากขึ้นกว่านี้ เพราะตอนนี้มีน้อยคนที่จะตระหนักว่าคุณภาพอากาศมีผลต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของเขา ดังนั้นการสร้างความตื่นตัวจากภาคการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

โรงเรียนหลายแห่งยังไม่ตื่นตัวในเรื่องของการปกป้องเด็ก เด็กควรจะได้รับสิทธิที่เมื่อเกิดมาแล้วจะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด แม้จะไม่สะอาดเต็มที่แต่ก็ต้องไม่ทำร้ายสุขภาพเขา ครูผู้จัดการศึกษาและผู้บริหารโรงเรียน ต้องมีความเข้าใจในเรื่องนี้ และต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและต่อเนื่อง

- อาจารย์สุภา มนูญศักดิ์

จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเสวนาก็ได้ย้ายมาสู่ภาคกลาง โดยคุณ Vijo Varghese ผู้ร่วมก่อตั้งพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่ากาญจนบุรี มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสร้างความตระหนักรู้เรื่องปัญหามลพิษทางอากาศกับผู้นำและสมาชิกชุมชนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่เดิมไม่เคยรู้จักคำว่า ดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ Air Quality Index เลย รู้แต่เพียงว่า วันไหนที่มองไม่เห็นภูเขา วันนั้นอากาศไม่ดีแล้ว

ความพยายามของคุณ Vijo ทำให้เห็นความชัดเจนถึงสาเหตุของปัญหามลพิษในพื้นที่กาญจนบุรีมากขึ้น ซึ่งต้นเหตุหลักคือ (1) การเผาไร่อ้อยเพื่อเก็บเกี่ยว, (2) การเผาขยะ และ (3) การลุกลามของไฟจากการเผาไปยังพื้นที่ป่าดิบที่ควบคุมไฟได้ยาก นอกจากนี้ มาตรการที่มาจากภาครัฐ เช่นมาตรการห้ามเผา ก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง เนื่องจากพื้นที่ที่กว้างใหญ่และการไร้ซึ่งทางเลือกอื่นที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรในพื้นที่

ปัญหาที่เกิดจากการเผาไร่อ้อยในพื้นที่ภาคกลางนี้ แสดงให้เห็นถึงปัญหาเชิงนโยบายของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน เช่น การมีนโยบายสนับสนุนให้เป็นประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตน้ำตาลอ้อย โดยไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศ แต่มีการพยายามสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรผลิตอ้อยให้ได้มากที่สุด และเมื่อเกษตรกรไม่มีทางเลือกอื่นในการเก็บเกี่ยวนอกจากการเผา ก็กลับถูกมองว่าเป็นผู้สร้างมลพิษและต้องรับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียว ทั้งที่ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าเกษตรกรเพียงคนเดียวจะสามารถแก้ได้ ต้องมีการสนับสนุนและร่วมแก้ไขตั้งแต่ระดับผู้นำชุมชนขึ้นไปจนถึงระดับของผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ

การกำหนดทิศทางของประเทศในด้านสิ่งแวดล้อม โดยคงเรื่อง GDP เป็นเป้าหมายหลัก เป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะทำให้ไม่มีการมองถึงความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานรองรับ จำเป็นต้องปรับวิธีคิดกันใหม่

- Vijo Varghese

ปิดท้ายการเสวนาด้วยปัญหาจากภาคใต้ โดย ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวถึงปัญหามลพิษในประเทศไทยว่าเป็นเสมือนหนึ่งเทศกาลประจำชาติ ยาวตลอดทั้งปี เริ่มจากช่วงฤดูหนาวต้นปีในภาคกลาง ไปสู่ช่วงการเผาไร่เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงฤดูแล้งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามด้วยปัญหามลพิษข้ามพรมแดน (Trans-Boundary Haze) ในช่วงฤดูฝนที่ภาคใต้ ที่ถึงแม้จะได้รับการขนานนามว่าเป็นภูมิภาคที่อากาศสะอาดที่สุดแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังได้รับผลกระทบเรื่องมลพิษไม่น้อย โดยเฉพาะจากการเผาป่าพรุในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งในบางครั้ง ด้วยทิศทางลมและอากาศที่แห้งแล้ง ก็นำเอาหมอกควันพิษข้ามจากเกาะสุมาตรามาถึงประเทศไทยได้ในเวลาเพียงไม่กี่วัน

ปัญหามลพิษข้ามแดนเป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้โดยง่าย แม้จะเริ่มมีโครงสร้างสนับสนุน เช่น ASEAN Haze Agreement มาแล้วบ้างก็ตาม แต่สิ่งที่ ดร.พีระพงศ์ เห็นว่าสามารถทำได้ก่อนคือการแก้ปัญหาภายในประเทศ โดยเริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้และความหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติให้กับคนในพื้นที่เสียก่อน ไม่ว่าจะผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษากับหน่วยงานของรัฐ หรือการส่งเสริมการศึกษาเรื่องทรัพยากรท้องถิ่นให้แก่เยาวชน ที่สำคัญ ดร.พีระพงศ์เน้นย้ำว่า ต้นตอของปัญหามลพิษทางอากาศ ที่สุดแล้วคือปัญหาการมีกินของประชาชน ที่ต้องช่วยให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม

รากเหง้าของปัญหาคือปัญหาปากท้อง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาต้องแก้ตรงจุดนั้น โดยต้องมีนโยบายให้คนอยู่กับทรัพยากร และใช้ทรัพยากรประกอบอาชีพที่ดีโดยไม่ทำลายได้ ถ้าคนอยู่ดีกินดีแล้ว คนก็คงไม่เผาป่าเผาไร่ แต่ถ้าปัญหาปากท้องไม่ได้รับการแก้ไข อย่างไรเสียปัญหามลพิษจากการเผาก็ยังคงอยู่

- ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล

การแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหามลพิษจากภูมิภาคต่างๆ ทำให้เห็นได้ชัดถึงความซับซ้อนของปัญหาและความจำเป็นของการแก้ไขในระดับนโยบายประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ เครือข่ายอากาศสะอาด ได้ดำเนินการมาระยะเวลาหนึ่ง ผ่านการผลักดัน ร่าง พรบ. กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ติดตามรายละเอียดกระบวนการได้ที่นี่) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อประชาชนไทยที่สนใจสนับสนุนให้ครบ 10,000 รายชื่อ เพื่อนำส่งร่าง พรบ. ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาโดยรัฐสภา สำหรับประชาชนไทยที่สนใจจะสนับสนุน สามารถดูรายละเอียดวิธีการได้ที่นี่

ส่วนกิจกรรมครั้งต่อไปของ Digital Roadshow: From PM2.5 to Zero มาพบกับเราในวันที่ 23 กันยายน กับการเสวนา (ออนไลน์) ในหัวข้อ “ศิลปะและความสร้างสรรค์กับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ” เพื่อคุยกันว่าบทบาทของศิลปะ, ชุมชน และการศึกษา มีบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างไร

ลงทะเบียนร่วมกิจกรรมได้ที่นี่: https://bit.ly/AIRZEROREG2020

--

--

We are a self-organized, citizen-driven project focused on humanity’s big challenges\\ circulardesignlab.org \\ @circular_lab