Getting from (PM)2.5 to Zero: The Creative Response (Thai)

Roadshow Recap from Session Stop #4, September 23

Circular Design Lab
2 min readOct 4, 2020

--

ตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์ที่ผ่านมา ศิลปะเป็นหนึ่งในสิ่งที่มีบทบาทสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองมาโดยตลอด โดยเหล่าศิลปินได้อาศัยงานศิลปะในการผลักดันขอบเขตของสิ่งที่เป็นอยู่ สร้างมุมมองที่เปลี่ยนไป และช่วยสร้างกระจกสะท้อนเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เราตั้งคำถามกับสภาพที่เป็นอยู่ งานศิลปะสามารก้าวข้ามกรอบของภาษา อายุ วัฒนธรรม และสถานที่ ในการสื่อสารถึงความเร่งด่วนและผลกระทบของปัญหาเชิงระบบขนาดใหญ่ เช่นมลพิษทางอากาศ และช่วยให้เราทุกคนรู้สึกและเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่ต้องการการแก้ไขอย่างจริงจัง

ในประเทศไทยเอง กลุ่มคนในแวดวงศิลปะและวิชาการจำนวนไม่น้อย ก็กำลังเป็นแนวหน้าในการตอบสนองต่อวิกฤตมลพิษทางอากาศในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา Circular Design Lab (CDL) และ เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย จึงได้จัดการเสวนาออนไลน์ เพื่อพูดคุยกับผู้นำหลายคนจากวงการศิลปะ ที่ใช้งานศิลปะต่างๆ ทั้งภาพยนตร์, ดนตรี, ศิลปะการแสดง, การเรียนการสอน และนวัตกรรม ในการสร้างแรงบันดาลใจในการลงมือแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจากทุกภาคส่วน

การเสวนาดังกล่าว ซึ่งเป็นการเสวนาครั้งที่ 4 ของกิจกรรม “From PM2.5 to Zero” Digital Roadshow มีผู้ดำเนินรายการคือคุณ Laura M. Hammett จาก Circular Design Lab และคุณ Green Nitiwat ศิลปินนักร้อง โดยคุณ Green เปิดรายการด้วยการอธิบายถึงที่มาที่ไปของการจัดกิจกรรม Digital Roadshow นี้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการผลักดันการยกร่างพระราชบัญญัติอากาศฉบับประชาชนขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

วิทยากรท่านแรกที่มาร่วมเสวนาคือคุณ Christopher Moore ผู้ก่อตั้งโครงการประกวดภาพยนตร์สั้นด้านสิ่งแวดล้อม Changing Climate, Changing Lives (CCCL) Film Festival ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 20–22 พฤศจิกายน นี้ โดยคุณ Christopher กล่าวว่า CCCL คือความพยายามที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนหรือกลุ่มคนต่างๆ ที่กำลังต่อกรกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศด้วยกลยุทธ์หลากหลาย เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งคุณ Christopher รู้สึกว่าประเทศไทยยังคงขาดความตื่นตัวในเรื่องนี้อยู่พอสมควร ดังจะเห็นได้จากการไม่มีคำศัพท์ในภาษาไทยเพื่อใช้ทดแทนคำว่า Climate Change อย่างแพร่หลาย การขาดซึ่งคำศัพท์ในภาษาไทยในประเด็นนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความคิดที่จะพยายามสร้างความตระหนักรู้ผ่านงานศิลปะที่ไม่ถูกจำกัดด้วยขอบเขตของภาษาด้วย

CCCL 2020 พยายามเสาะหาและถ่ายทอดตัวอย่างของการต่อกรกับปัญหา Climate Change จากระดับชุมชนผ่านการเล่าเรื่องโดยนักสร้างภาพยนตร์และศิลปินในพื้นที่ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า คนหนึ่งคนกับกล้องถ่ายภาพหนึ่งตัว สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพียงเดินออกไปบันทึกและถ่ายทอดวิธีที่ผู้คนกำลังปรับตัวหรือต่อกรกับสภาพภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้คุณ Christopher ได้กล่าวว่า “ความพยายามในการต่อกรกับปัญหานั้นมีอยู่จริง เราเพียงต้องนำความพยายามเหล่านั้นออกมาถ่ายทอดให้คนได้เห็น”

“สิ่งที่ Climate Change สอนเราก็คือ เราได้หันหลังและเดินออกมาจากธรรมชาติแล้ว ทุกวันเราพวกเราส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง ใช้ชีวิตไปกับเดินทางจากห้องห้องหนึ่งไปสู่อีกห้องหนึ่ง ภายใต้แสงไฟนีออนที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา เราออกห่างจากทรัพยากรธรรมชาติมามาก จนเราลืมไปแล้วว่าเส้นทางชีวิตในแบบของบรรพบุรุษของเราเป็นอย่างไร สิ่งที่งานประกวดภาพยนตร์ CCCL ของเราพยายามทำก็คือพยายามชี้ให้เห็นทางที่เราจะสามารถย้อนกลับไปบนเส้นทางที่ เรากับธรรมชาติ เคยอยู่ร่วมกัน”- Christopher Moore

วิทยากรท่านที่สอง คุณ ทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์ ศิลปินและ Art/i/vist ผู้เน้นการสร้างผลงานสะท้อนปัญหาสังคม, วัฒนธรรม,​ สิ่งแวดล้อม และการเมืองการปกครอง กล่าวถึงประสบการณ์จากการสร้างผลงานศิลปะมีชีวิตในปี 2561 (2018) โดยในคราวนั้น คุณทวีศักดิ์ต้องเดินอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพวันละกว่า 7 ชั่วโมงติดต่อกัน 22 วัน และพบว่า เพียงแค่ 2 วันผ่านไปก็เริ่มจะหายใจไม่ออกแล้ว จนถึงกับต้องจัดหาหน้ากากกันมลพิษอย่างดีมาใส่เพื่อให้สามารถเดินต่อในวันต่อๆไปได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหามลพิษในประเทศไทยของคุณทวีศักดิ์ ซึ่งได้อุทิศตัวสร้างผลงานเพื่อเผยแพร่ความตระหนักรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการแก้ปัญหานับแต่นั้นมา

คุณทวีศักดิ์ได้เดินทางไปทั่วประเทศไทยเพื่อสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน โดยล่าสุดได้ไปที่เกาะช้าง และประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เยาวชนบนเกาะ “เกิดความรู้สึกว่าเกาะคือบ้านที่ต้องรักษา” ผ่านกิจกรรมศิลปะแบบมีส่วนร่วม

คุณทวีศักดิ์กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างศิลปะกับการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจว่า “จากประสบการณ์ในวงการการศึกษากว่า 20 ปีของผม ผมไม่เชื่อว่าการเรียนรู้และทำงานศิลปะอยู่แต่ในสตูดิโอ จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เพียงพอ ผมไม่ได้สนใจในเรื่องการเผยแพร่องค์ความรู้เท่าไหร่ องค์ความรู้เรามีมากพอแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดอยู่คือการลงมือทำ ดังนั้นเวลาผมสอน ผมจะไม่สอนอยู่แต่ในห้องเรียน แต่ผมจะใช้กระบวนการมีส่วนร่วมนอกห้องเรียนด้วย”

“เราต้องสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ที่ช่วยให้นักเรียนสามารถแสดงตัวตนของเขาออกมา และให้เขาได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนทางสังคม เราต้องการเยาวชนคนรุ่นใหม่มาเป็นแรงผลักดันให้กับเราทุกคน” — Aj. Taweesak

ตัวอย่างหนึ่งของพลังเยาวชนขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ก็คือ Team Strawberries ทีมผู้ชนะเลิศจากการประกวดแข่งขัน Youth for SDGs Award ในหมวด ปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งสมาชิกทีม ประกอบด้วย Kantanat Pridaphatrakun, Maymoree Tangtipongkul และ LK Tangsamphan ก็ได้เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ด้วย โดยได้แชร์ให้กับผู้ฟังถึงแนวทางการแก้ปัญหามลพิษอีกแนวทางหนึ่ง

โครงการที่ Team Strawberries ได้พัฒนาขึ้นคือผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์จากฟางข้าว ซึ่งน้องๆ ทั้ง 3 คนในทีมได้ร่วมกันศึกษาวิจัย และทดลองจนสำเร็จ โดยสามารถใช้ยีสต์ที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมมาช่วยแปลงเศษฟางข้าวให้กลายเป็น เอทานอล อันเป็นส่วนผสมสำคัญในการทำผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ (เช่น เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ) โดยให้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า Strawcohol ซึ่งน้องๆ จาก Team Strawberries ได้เริ่มแนวคิดนี้จากการสังเกตเห็นว่า ฟางข้าว คือผลผลิตข้างเคียงที่ได้จากการปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวที่มักจะถูกเผาทิ้งไปโดยชาวนา เป็นการสร้างมลพิษโดยเปล่าประโยชน์ แต่หากสามารถนำฟางข้าวมาทำอย่างอื่นได้แทน ก็น่าจะช่วยลดปัญหามลพิษจากการเผาฟางข้าวลงได้

“เราอยากจะศึกษาวิจัยต่อ โดยเฉพาะในเรื่องของยีสต์ที่เอามาช่วยย่อยสลายฟางข้าว ที่ต้องหาตัวที่ได้ผลดีกว่านี้ เพราะเราอยากจะเพิ่มความสามารถในการผลิตให้ได้ในปริมาณมาก เพื่อที่เราจะได้สามารถรับซื้อฟางข้าวจากชาวนาเพื่อมาแปรรูปเป็นจำนวนมากได้” ผู้แทน Team Strawberries กล่าวเมื่อถูกถามถึงแผนงานในขั้นต่อไปของโครงการ

การผลักดันเพื่อสิทธิในการมีอากาศสะอาดหายใจ ไม่ใช่เรื่องของวงการวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม และนโยบายเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องที่งานศิลปะและการศึกษาก็มีส่วนสำคัญที่สามารถเข้ามาเกี่ยวข้องได้ โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ดังเช่นที่คุณทวีศักดิ์กล่าวไว้ในตอนหนึ่งของการเสวนาว่า “ศิลปะสามารถถูกนำมาใช้เสริมการเผยแพร่องค์ความรู้ได้ เราสามารถนำศิลปะมาเป็นตัวกลางในการสื่อสารกับสังคม เช่นการสื่อสารว่ากฎหมายอากาศสะอาดคืออะไรและสำคัญกับประชาชนอย่างไรได้”

“เราต้องขับเคลื่อนไปด้วยกันเป็นทีม เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่านี้ให้กับตัวเราเอง และงานศิลปะก็มีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนจากภาคประชาชนนี้” — Christopher Moore

กิจกรรม “From PM2.5 to Zero” Digital Roadshow จะจัดการเสวนาครั้งต่อไปขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม ภายใต้หัวข้อ “ช่องว่างที่ยังขาดการเติมเต็ม” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับช่องว่างที่ยังคงอยู่ในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย และทำอย่างไรจะจึงก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านั้นไปได้ ขอเชิญร่วมเข้ามารับฟังและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาได้

ลงทะเบียนร่วมรับฟังเสวนาครั้งต่อไปได้ที่ https://bit.ly/AIRZEROREG2020

--

--

Circular Design Lab

We are a self-organized, citizen-driven project focused on humanity’s big challenges\\ circulardesignlab.org \\ @circular_lab