Getting from (PM)2.5 to Zero: The Gaps that Remain (Thai)
Roadshow Recap from Session Stop #5, October 7
Read in Thai below or English Language here
ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา Circular Design Lab (CDL) และ เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย (Thai CAN) ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “From PM2.5 to Zero” Digital Roadshow ขึ้นมาเผยแพร่องค์ความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไขมลพิษทางอากาศในประเทศไทย ซึ่งจากการเสวนาที่ผ่านมา เราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหามลพิษทางอากาศนอกจากจะอยู่คู่กับประเทศไทยมาหลายปีแล้ว ก็ยังเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและส่งผลกระทบในวงกว้างกับแทบจะทุกมิติของสังคมเลยก็ว่าได้
ความซับซ้อนของปัญหามลพิษ ส่วนหนึ่งเกิดจาก ช่องว่างที่ยังไม่ได้รับการเติมเต็ม ในเรื่องของข้อมูลมลพิษ, กระบวนการติดตามปัญหา, ทรัพยากรในการแก้ปัญหา และนโยบายภาครัฐและตัวบทกฎหมายที่จะส่งเสริมการจัดการกับแหล่งกำเนิดของมลพิษอย่างจริงจัง และนั่นคือหัวข้อหลักของการเสวนาออนไลน์ครั้งที่ 5 ของกิจกรรม Digital Roadshow ที่ CDL และ Thai CAN ได้จัดไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม, มลพิษอุตสาหกรรม, ไฟป่า รวมทั้งมลพิษข้ามแดน มาร่วมหารือแลกเปลี่ยนกัน
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์กับการแก้ปัญหามลพิษ ของ Thai CAN เปิดประเด็นการเสวนาด้วยการกล่าวถึงแหล่งกำเนิดมลพิษหลักอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ซึ่งก็คือมลพิษจากการคมนาคม อันเป็นผลจากการขาดการบังคับใช้มาตรฐานน้ำมัน (Emission Standards) ที่มีมาตรฐานสูงพอที่จะช่วยลดปัญหามลพิษได้ โดยในปัจจุบัน มาตรฐานน้ำมันที่มีใช้อยู่ในประเทศไทยคือมาตรฐานน้ำมันแบบ Euro-4 ซึ่งกำหนดสัดส่วนของกำมะถันในน้ำมันไว้ที่ 50 ส่วนในล้านส่วน (50 ppm) ในขณะที่มาตรฐานน้ำมันที่มีนโยบายจะบังคับใช้ในอนาคตคือมาตรฐาน Euro-5 ซึ่งกำหนดสัดส่วนของกำมะถันไว้เพียง 10 ส่วนในล้านส่วน (10 ppm) หรือกล่าวคือ การนำมาตรฐาน Euro-5 มาใช้แทนนั้นจะสามารถลดมลพิษจากการคมนาคมได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
คำถามคือเหตุใดประเทศไทยจึงใช้เวลานานในการประกาศยกระดับคุณภาพน้ำมัน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน กำหนดการยกระดับมาตรฐานน้ำมันเป็น Euro-5 ได้ถูกเลื่อนออกไปถึงปี 2567 แล้ว รศ.ดร.วิษณุ ให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งคือต้นทุนทางการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นสูง เป็นภาระที่ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันจะต้องแบกรับ หรืออาจต้องส่งต่อให้ผู้บริโภคผ่านการขึ้นราคาน้ำมันที่ปั๊ม โดยอาจทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้นกว่าปกติมากหากไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งก็คือความสามารถในการผลิตน้ำมันมาตรฐานสูงให้เพียงพอกับความต้องการใช้งานของประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังทำได้เพียงประมาณ 5% ของความต้องการเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักที่มองข้ามไม่ได้เลยก็คือ ความชัดเจนในนโยบายจากภาครัฐในการวางแผนสนับสนุนการใช้น้ำมันที่ได้มาตรฐาน Euro-5 ไม่ว่าจะเป็นความชัดเจนในเรื่องราคาน้ำมันที่สามารถขายได้ หรือแนวทางการใช้เงินกองทุนน้ำมันเพื่อสนับสนุนให้สามารถนำน้ำมันมาตรฐานสูงออกมาใช้โดยที่ราคาไม่สูงเกินไปสำหรับผู้บริโภค
“การเลื่อนเวลาการยกระดับมาตรฐานน้ำมันออกไปเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งก็มาจากคำขอของภาคเอกชน แต่ภาครัฐเองก็ต้องคิดด้วยว่า แม้ภาครัฐจะช่วยให้กำไรของภาคเอกชนไม่ลดลง แต่ประชาชนไทยกำลังได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ ภาครัฐควรต้องคิดถึงประชาชนด้วยหรือเปล่า”- Dr.Witsanu
คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอุตสาหกรรมจาก Thai CAN ร่วมเสวนาต่อจากเรื่องของมาตรฐานน้ำมัน ด้วยเรื่องของมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแหล่งมลพิษที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก โดยคุณเพ็ญโฉมเล่าให้ฟังถึงมาตรการทางกฎหมายกับภาคอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA, EHIA) ก่อนการตั้งโรงงาน, การปฏิบัติตามมาตรการทางกฎหมายระหว่างการดำเนินกิจการโรงงาน และการจัดตั้งคณะทำงานและมาตรการเฉพาะกิจเพื่อแก้ปัญหาในระหว่างภาวะมลพิษฉุกเฉิน
แม้ว่าการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมจะดูเหมือนมีกระบวนการและมาตรการรองรับที่ชัดเจน ปัญหาคือความครอบคลุมของมาตรการเหล่านั้น ซึ่งคุณเพ็ญโฉมชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนสำคัญจุดหนึ่งคือบทบัญญัติเรื่องการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโรงงาน ที่ควบคุมการปลดปล่อยสารมลพิษเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น ในขณะที่สารมลพิษจากโรงงานที่ส่งผลให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 มีอยู่เป็นร้อยๆชนิด นอกจากนี้ ยังมีสถานประกอบการและโรงงานหลายประเภทที่ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อนการจัดตั้งด้วย อีกทั้งในประเทศไทยยังไม่มี ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) ซึ่งทำให้การค้นหาต้นตอสารมลพิษและการออกมาตรการที่ครอบคลุมไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัญหาความไม่ชัดเจนและครอบคลุมของมาตรการต่างๆ เมื่อนำไปรวมกับความซับซ้อนของโครงสร้างการกำกับดูแลเรื่องมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ยิ่งทำให้เกิดช่องว่างในการควบคุมปัญหามากขึ้นไปอีก ดังจะเห็นได้จากจำนวนข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นและมลพิษที่มีจำนวนมาก แต่ปัญหาฝุ่น PM2.5 กลับทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในหลายปีที่ผ่านมา ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เกิดขึ้นคือโครงสร้างการ พยายาม กำกับดูแลปัญหาที่ซับซ้อน มีหน่วยเกี่ยวข้องจำนวนมากที่ทำงานโดยไม่ประสานกัน และในบางกรณีมีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอีกด้วย การบังคับใช้กฎหมายจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
“เรื่องรีบด่วนที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีอย่างยิ่งคือ เจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูกแบบที่ผ่านๆมา หรือการฟังเสียงภาคเอกชนจนไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ”- Ms. Penchom Saetung
ต่อเนื่องจากช่องว่างด้านมาตรฐานน้ำมัน และการกำกับดูแลมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม ดร.วีระชัย ตันพิพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไฟป่า ศูนย์วิจัยป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มาร่วมพูดคุยถึงช่องว่างในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในภาคเหนือ โดยเฉพาะในฤดูไฟป่า ซึ่งสาเหตุสำคัญลำดับแรกก็คือความไม่เข้าใจกันระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท ที่เกิดจากรูปแบบของนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับบริบทชีวิตผู้คน และไม่สร้างทางเลือกทดแทนให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมที่ถูกสั่งโดยส่วนกลาง กอปรกับการขาดซึ่งความสามารถในการมีส่วนร่วมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่แม้จะอยู่ใกล้ชิดกับชุมชนมาก แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนให้สามารถร่วมป้องกันปัญหามลพิษในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากการปรับแนวคิดการควบคุมปัญหาให้เข้าถึงชุมชนมากขึ้นแล้ว การนำองค์ความรู้ทางวิชาการจากการศึกษาวิจัยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการมลพิษก็เป็นสิ่งสำคัญ โดย ดร.วีระชัย ได้ชี้ให้เห็นว่าองค์ความรู้ด้านพฤติกรรมของควันไฟและไฟป่าของประเทศไทยมีมากว่า 30 ปี สามารถนำมาใช้ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการบริหารจัดการไฟอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการออกแบบแนวทางต่างๆ ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจในพฤติกรรมของคนในท้องถิ่นด้วย ดังที่ ดร.วีระชัยได้กล่าวว่า “ตราบใดที่ยังเข้ากับชุมชนได้ไม่เข้มแข็ง ก็จะไม่ทราบหรอกว่าสาเหตุการจุดไฟเผาป่าจริงๆคืออะไร”
“เราถอดบทเรียนกันมานานมากแล้ว ผมอยากให้เริ่มช่วยกันแก้ไขปัญหาด้วยกันทั้งหมด ติดขัดอะไรก็นำมาวางเพื่อช่วยกันแก้ไขไปทีละข้อ ไม่ใช่คุยเสร็จ มีเอกสารสรุปแล้วก็เลิกรากันไปตามฤดูกาล ภาครัฐต้องดำเนินการอย่างจริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหา”- Dr.Veerachai
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ ดร.วีระชัย ได้กล่าวถึงคือการใช้องค์ความรู้ทางวิชาการเข้ามาเสริมการพิจารณานโยบายและมาตรการเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งในเรื่องนี้ Mr. Matthew Perkins นักเศรษฐศาสตร์ (Economic Affairs Officer) ประจำคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแนวคิดดังกล่าว โดยนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลปัญหามลพิษด้วยวิธีการ Machine Learning ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนถึงข้อแตกต่างระหว่างองค์ประกอบของมลพิษในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในเชียงใหม่ และพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นการตอกย้ำความสำคัญของการกำหนดนโยบายและแนวทางแก้ปัญหาที่ดึงเอาบริบทของพื้นที่มาประกอบด้วย
จากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ก็คือปัญหามลพิษข้ามพรมแดน (Trans-Boundary Pollution) ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง ช่องว่าง ที่สร้างผลกระทบไม่น้อยไปกว่าปัญหาอื่นๆ ภายในประเทศที่วิทยากรท่านอื่นได้กล่าวถึงไปแล้ว ซึ่งผลกระทบจากมลพิษที่เกิดจากการเผาทางการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านนั้น นอกจากจะทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหามลพิษที่หนักหน่วงในทุกปีแล้ว ก็ยังส่งผลถึงประเด็นความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรในประเทศกับภาครัฐ ดังเช่นที่ ดร.วีระชัย ได้กล่าวไว้อีกด้วย เนื่องจากข้อมูลแสดงให้เห็นชัดเจนว่า แม้จะมีมาตรการห้ามเผาที่สั่งการจากส่วนกลางไปยังภูมิภาคแล้ว ปัญหามลพิษกลับไม่ได้ลดลงไปเลย ตรงกันข้าม เกษตรกรไทยกลับต้องตกเป็นจำเลยสังคมและต้องสูญเสียช่องทางการหาเลี้ยงชีพโดยไม่มีทางเลือก ในขณะที่มลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้านยังคงถาโถมเข้ามาโดยไม่ได้รับการแก้ไข
“ทุกคนที่กำลังหายใจอยู่ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา ต้องเข้าใจว่าผลกระทบจากปัญหามลพิษทางอากาศส่งผลต่อคนทุกๆคน ดังนั้น จึงเป็นการสำคัญมากที่ประเทศไทยจะต้องมีนโยบายและมาตรการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ทั้งในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับภูมิภาคผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศกับเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”- Matthew Perkins
ช่องว่างต่างๆท่ีเหล่าวิทยากรได้กล่าวถึงข้างต้นนั้น ดูแล้วเหมือนจะเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและยากยิ่งที่จะแก้ได้ อย่างไรก็ตาม หนทางแก้ไขนั้นยังมีและเป็นไปได้ แต่สิ่งสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนคือแรงบันดาลใจจากภาครัฐในการจะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งแรงบันดาลใจนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจากการร่วมกันผลักดันด้วยประชาชนทุกคน ดังที่ คุณวีณาริน ลุลิตานนท์ ผู้ดำเนินรายการและผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาดฯ ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “แรงบันดาลใจในการผลักดันการแก้ปัญหาสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบใดก็ตามแต่ ล้วนมาจากภาคประชาสังคมที่ไม่ยอมรับกับการถูกริดรอนสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาดทั้งสิ้น”
แนวทางหนึ่งในการร่วมผลักดันการเติมเต็มช่องว่างอย่างยั่งยืนในฐานะประชาชนไทย ก็คือการร่วมลงชื่อสนับสนุนร่าง พรบ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ ที่เครือข่ายอากาศสะอาดได้จัดทำขึ้นและอยู่ระหว่างการระดมรายชื่อผู้สนับสนุนให้ครบ 10,000 รายชื่อ เพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาให้ออกมาเป็นกฎหมายอากาศสะอาดแบบบูรณาการฉบับแรกของประเทศไทยต่อไป (อ่านข้อมูลของกระบวนการได้ที่นี่) ซึ่งประชาชนไทยที่สนใจจะร่วมสนับสนุนร่าง พรบ. นี้ สามารถดูรายละเอียดวิธีการได้ที่นี่
As for the next activity in “From PM2.5 to Zero” Digital Roadshow, meet us on Wednesday, after work, on 28 October at Bangkok 1899 from 5:30–8:30pm! Stay tuned for details at right2cleanair.com